การเลือกซื้อน้องกุ้งเครฟิต


การเลือกซื้อน้องกุ้งเครฟิต



         1. เลือกซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้และผู้ขายสามารถให้ความรู้กับเราได้ในเบื้องต้น  
         2. เลือกตัวที่แข็งแรงให้ลองแหย่ ๆ เค้าดูถ้าตัวไหนชูก้ามสู้  หรือมีปฏิกิริยากระโดดหนี อย่างรวดเร็วเป็นต้น  ที่สำคัญตาต้องอยู่ครบเพราะไม่สามารถงอกใหม่ได้



การเลือกซื้อตู้ให้เหมาะสม

          เครฟิชเป็นกุ้งที่ต้องการพื้นที่  เพื่อลดการปะทะหรือให้น้องกุ้งได้มีพื้นที่เดินบ้างจะได้แข็งแรง
จากประสบการณ์ส่วนตัวที่สังเกตุมาน้องกุ้งตัวไหนที่เดินเก่ง ๆ ขนหิน  มีกิจกรรมตลอดเวลา ชอบปีนป่าย กุ้งพวกนี้จะมีรูปร่างสวยงามแข็งแรงกว่ากุ้งที่ชอบหมอบ ๆ และหลบ ๆ ตัวอย่างตู้ที่ใช้เลี้ยงจะเป็นทรงสี่เหลี่ยมจตุรัส  (ทรง Cube) เพื่อให้มีพื้นที่มากพอ สำหรับน้องกุ้งเค้าค่ะ  



วัสดุปูพื้นตู้

          โดยส่วนตัวแล้วชอบหินนิลดำเพราะทำให้น้องกุ้งสีสวยขึ้น  ราคาถูก  และทำความสะอาดง่ายค่ะ

การให้อาหาร

          จะให้อาหารวันละสองครั้งเช้าและค่ำ ๆ ค่ำ  พยายามให้อาหารให้ตรงเวลาค่ะน้องกุ้งจะได้สุขภาพดี และก็เก็บเศษอาหารออกให้หมดค่ะ  สังเกตพฤติกรรมการกินอาหารของน้องกุ้งด้วยค่ะเพราะการ
ไม่กินอาหารของน้องกุ้งบ่งบอกว่าน้องกำลังจะลอกคราบค่ะ  จะได้แยกเค้าออกทัน

การลอกคราบ

            เป็นเรื่องสำคัญมาก ๆ ค่ะสำหรับการเลี้ยงรวม 90 เปอร์เซ็นต์ของกุ้งเครฟิชจะหยุดกินอาหารก่อนจะลอกคราบประมาณ 1-2 วันและจะแยกตัวออกจากกลุ่มเพื่อน ๆ หรือปีนขึ้นไปอยู่ที่สูง หรือไม่ก็หลบในมุมที่ไม่ค่อยมีกุ้งตัวอื่น ๆ เข้าไปกวน สิ่งที่สังเกตุได้ง่ายอีกอย่างคือสีของน้องกุ้งจะทึบและเข้มขึ้นกว่าปกติ  

การผสมพันธุ์

              เอาล่ะตอนนี้มาถึงเรื่องที่เพื่อน ๆ หลายคนอยากรู้ว่าทำยังไงทำไมถึงท้องเยอะจัง ก็ต้องบอกว่าไม่ได้มีเคล็ดลับอะไรมากมายค่ะ  ให้อาหารก็ยี่ห้อที่ทั่ว ๆ ไปเค้าใช้กัน แต่จะเสริมด้วยอาหารสดบางอย่างเช่น  หนอนแดง  กุ้งฝอยต้ม  แครอท  สาหร่ายหางกระรอก เมื่อเค้าโตประมาณ 2.5 นิ้ว  น้องเครเค้าจะมีสัญชาตญาณหื่นขึ้นมาเองค่ะ  เค้าก็จะเริ่ม ผสมกันให้เห็นบ่อยครั้งค่ะ  และในตู้ส่วนใหญ่จะใส่ตัวเมียไว้มากกว่าตัวผู้เสมอ  (เหมือนฮาเร็ม) เพื่อที่ตัวผู้จะสามารถผสมพันธุ์กับตัวเมียสลับไปสลับมาได้  เพราะถ้าอยู่ในตู้กันสองต่อสอง ตัวผู้บางตัวที่หื่น จัดๆ อาจข่มขืนตัวเมียจนตายได้ค่ะ  (หลายท่านคงเจอมาแล้ว)  หลังจากเค้าเริ่มผสมพันธุ์กันสิ่งที่จะเกิดขึ้นเลยคือพฤติกรรมการกินอาหารของเค้า จะกินน้อยลงอย่างเห็นได้ชัดทั้งตัวผู้และตัวเมีย  และตัวเมียก็จะหมอบ ๆ หางม้วน ๆ ค่ะ บางท่านอาจจะแยกตัวเมียออกไปโดยปกติแล้วหลังจากผสมแล้วประมาณ 15 วัน ก็จะรู้ผลแล้วว่าติดหรือไม่  ถ้าไม่ก็ผสมซ้ำได้เลย     แต่ประสบการณ์ส่วนตัวเรา ใช้วิธีสังเกตุว่าตัวเมียในตู้ตัวไหนถูกผสมบ่อยสุ จะคอยจับตาพฤติกรรมเค้าเป็นพิเศษ   ถ้าเค้าจะไข่เค้าจะหาที่มุด ๆ หลบ ๆ ตามใต้ขอนไม้หรือในบ้าน และจะดุมากใครเข้าไปใกล้ ๆ เค้าจะชูก้ามขู่เพื่อไม่ให้ตัวอื่นมายุ่มยามบริเวณบ้านเค้า และที่สำคัญเลยเค้าจะไม่ออกมากินอาหารเราก็จะเขี่ย ๆ ดูว่ามีไข่รึเปล่าถ้าไข่ ก็จะใช้วิธีแยกตัวที่ไข่ออกมาจากตู้  แต่...  ก่อนจะแยกกุ้งไข่จากตู้สิ่งที่ต้องทำก่อนคือจัดตู้คุณแม่กุ้งให้เรียบร้อยตอนแรก ๆ เลยเราใช้ตู้กระจกธรรมดานี่แหละค่ะให้ แม่กุ้งอยู่แล้วใช้ฟิวเจอร์บอร์ดปิดรอบตู้ให้มืด ๆ เพื่อไม่ให้แม่กุ้งเครียด




         แต่ตอนหลังเราใช้ถังพลาสติกค่ะใหญ่ ๆ กว่าตู้ 24 ค่ะ  จำไซส์ไม่ได้แล้ว แล้วเอาน้ำในตู้ที่แม่กุ้งเค้าอยู่เดิมนั่นแหละใส่ลงไป  ใส่กรองฟองน้ำลงไป แล้วก็ค่อย ๆ ช้อนแม่กุ้งมาใส่ในขันซึ่งขันนั้นต้องมีน้ำอยู่ด้วยนะคะน้ำก็ เป็นน้ำในตู้เค้าแหละค่ะ  เวลาช้อนก็ค่อย ๆ นะคะอย่าให้คุณแม่เค้าตกใจ จนกระโดดล่ะเดี๋ยวไข่หลุดหมด  โดยส่วนตัวก็จะคุยกับคุณแม่กุ้งเค้า บอกเค้าว่ามาหาแม่มามะ  เดี๋ยวแม่พาไปอยู่ที่ใหม่ไม่มีใครมารบกวน เลยนะลูกนะ  เค้าจะได้รีบมาไงคะ  อิอิ  

           แล้วก็เอาขันนั้นน่ะมาค่อย ๆ เอียงนะคะให้น้ำในถังค่อย ๆ ไหลเข้าไปในขัน ให้เค้าชิน ๆ หน่อยแล้วก็ค่อย ๆ เทเค้าเบา ๆ ลงไปในถัง  หลังจากนั้นก็ ใช้ฟิวเจอร์บอร์ดสีดำ ๆ ปิดปากถังไม่ต้องปิดหมดนะคะ แค่ครึ่งเดียวก็พอ ไม่ให้มีแสงสว่างมากนัก  แต่อย่าปิดหมดนะคะเพราะจำทำให้อบค่ะ อุณหภูมิของน้ำอาจสูงขึ้นได้ แค่นี้ก็เป็นอันเสร็จสิ้นการจัดที่อยู่สำหรับคุณแม่กุ้งกันแล้ว

การให้อาหารคุณแม่กุ้งเครฟิช

                การให้อาหารไม่ต้องมากค่ะเช่น  กุ้งฝอยต้ม 1 ตัวเค้าก็กินไม่หมดแล้ว เพราะระยะที่เค้าอุ้มไข่แม่กุ้งจะอดอาหารเพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเองลอกคราบ ในขณะอุ้มไข่ค่ะ  ให้วันละ 1 มื้อก็เพียงพอค่ะ  หลังจากให้อาหารแล้ว ประมาณ 2-3 ชม. ให้ดูว่าหมดไม๊  ก็ให้เก็บเศษอาหารที่เหลือออก ทันทีค่ะ   สิ่งที่พึงระวังอย่างมากคือคุณภาพน้ำค่ะ  ควบคุมคุณภาพน้ำ ให้ดีค่ะอย่าให้มีของเสียเยอะเพราะแม่กุ้งจะสลัดไข่ทิ้งค่ะ  

อุณหภูมิ

การจัดวางตู้คุณแม่กุ้งสถานที่เป็นสิ่งสำคัญมากให้ดูว่าตรงไหนที่จะไม่ทำให้
อุณหภูมิของน้ำเปลี่ยนขึ้นลงเร็วเกินไปค่ะ   อุณหภูมิของน้ำที่เหมาะสม
จะอยู่ที่ประมาณ 27  องศา ค่ะ  พยายามควบคุมอย่าให้อุณหภูมิเปลี่ยนแปลง
มากนักเช่น ไม่ควรขึ้นหรือลงเกิน 2 องศาค่ะ  เพราะจะทำให้คุณแม่กุ้ง
เกิดความเครียดและสลัดไข่ทิ้งเช่นกัน

สิ่งสำคัญอีกอย่างที่ช่วยควบคุมไม่ให้อุณหภูมิเปลี่ยนแปลงมาก  และรวดเร็ว
คือปริมาณของน้ำค่ะ  ดังนั้นสิ่งสำคัญคือตู้คุณแม่กุ้งต้องใหญ่ ๆ ค่ะ  
น้ำต้องเยอะ ๆ ค่ะ  อุณหภูมิของน้ำจะไม่เปลี่ยนแปลงมากค่ะ

ระยะเวลาการการฟักไข่

            หลังจากที่คุณแม่เค้าเริ่มไข่แล้วจะให้ระยะเวลาประมาณสามสัปดาห์สีของไข่ จะเริ่มทยอยเปลี่ยนสี  อย่างเช่น  อัลลินี่ไข่ระยะแรกสีจะดำ  หลังจากนั้น ไข่จะพัฒนาค่อย ๆ ทยอยเปลี่ยนสีเป็นใส ๆ และเริ่มเห็นเป็นตัวและลูกตา ของน้องกุ้งตัวน้อย ๆ พร้อมที่จะออกมาชมโลก  

          สีไข่ของกุ้งแค่ละสีจะไม่เหมือนกันนะคะ  เช่น อัลลินี่ไข่จะสีดำ ในระยะแรก  สโนว์ไข่จะสีขาว บลูสป็อตไข่จะอีกสีน้ำตาลนิด ๆ ค่ะ แต่ระยะสุดท้ายจะพัฒนาเป็นใส ๆ และมีจุดสองจุดคือลูกตาน้องกุ้งนั่นเอง  นับจากวันที่อุ้มไข่ประมาณ 30 วันไข่ที่ถูกผสมจะพัฒนาเป็นลูกกุ้ง ส่วนไข่ที่ไม่ผสมคุณแม่กุ้งเค้าก็จะสลัดทิ้งไปโดยตัวเค้าเองค่ะ ระยะนี้คุณแม่กุ้งเค้าจะยืนนิ่ง ๆ ทั้งวันค่ะ  เพื่อให้เจ้ากุ้งน้อย ๆ  ที่พร้อมแล้วกระโดดออกมาจากระยางค์ของเค้า  ระยะนี้จะใช้เวลาประมาณ 2-4 วันโดยประมาณแล้วแต่ปริมาณ
ของไข่ที่ฟักค่ะ

การดูแลคุณแม่กุ้งหลังคลอดและเด็ก ๆ 



               หลังจากเจ้าตัวน้อย ๆ ออกมาเดินเป็นยุงกันเต็มแล้วคุณแม่กุ้งเค้าก็จะเริ่มกินอาหารมากขึ้นค่ะ  เพื่อสะสมอาหารสำหรับการลอกคราบ  โดยปกติแล้วพอเจ้าตัวน้อยออกไปหมดแล้วเราก็จะทำการแยกแม่กุ้งออกเลยค่ะ  แล้วก็ให้เค้ากินอาหาร  หลังจากนั้น ประมาณ 2 สัปดาห์คุณแม่เค้าก็จะลอกคราบค่ะ  คุณแม่บางตัว อาจลอกคราบถึงสองครั้งหลังจากการอุ้มท้อง  แต่บางตัวก็ลอกแค่ครั้งเดียวค่ะ

                    ส่วนลูกกุ้งนั้น  เราก็จะใส่สาหร่ายหางกระรอกให้เค้าเยอะ ๆ ค่ะ สำหรับเป็นที่หลบภัย  และก็เป็นอาหารได้ด้วย ผ่านไปประมาณ 1 สัปดาห์ก็จะเริ่มให้อาหารเม็ดค่ะ ที่ใช้อยู่จะเป็น เตตร้าครัสต้าค่ะ  ที่เป็นแผ่นบาง ๆ ค่ะ ที่เลือกใช้แบบนี้เพราะแผ่นบาง ๆ สามารถละลายน้ำ ได้ง่ายเหมาะสำหรับลูกกุ้งวัยอนุบาลค่ะ กินง่าย ตอนแรกเคยทดลองให้ไข่ต้มค่ะ  แต่ปรากฎว่ากุ้งกินค่ะ แต่ไม่เป็นผลดีกับน้ำเลยทำให้น้ำเสียและลูกกุ้งก็ ตายไปหลายตัวเหมือนกันค่ะ

                    การให้อาหารก็กะเอาค่ะไม่ต้องมากค่ะ  เพราะเราใส่สาหร่ายหางกระรอกอยู่แล้วยังไงน้องกุ้งน้อยเค้าก็มีสาหร่ายให้แทะกินได้ตลอดเวลาค่ะ ไม่ต้องกลัวเค้าจะหิวเพราะถ้าอาหารเหลือน้ำเสีย อาจถึงตายได้ค่ะ

ตู้สำหรับกุ้งวัยอนุบาล

                    หลังจากน้องกุ้งเริ่มตัวโตขึ้นแล้ว   เราก็จะค่อย ๆ แยกน้องกุ้งออกไปค่ะเฉลี่ย ๆ ดู  อย่าให้แออัดมากนักเพราะน้องกุ้งเค้าจะกินกันเองตอนลอกคราบได้ค่ะ

ด้วยความปรารถนาดีจาก  ณัฐ Yabby House 

ไม่มีความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.